วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

อาหารแก้เครียด


อาหารแก้เครียด

อารมณ์ดีกับอาหารสีสัน

  เมื่อได้รู้จักพื้นที่จิตของตัวเองแล้ว  ทีนี้เมื่อจะหาอาหาร ช่วยต้านเครียดหรืออาหารผสานอารมณ์ให้ได้ดีไม่ใช่เรื่องยากเลย แถมยังทำให้รู้สึกมีความสุขกับการรับประทานอาหารมากกว่าเดิม เพื่อความยากทานยากทานในมื้อต่อๆไป

เรื่องความอยากรับประทานอาหาร หรือจะปรุงอาหารใดให้คนติดใจในรสมือ  ที่เรียกว่า  มีเสน่ห์ปลายจวักนี้ ที่จริงแล้วไม่ยากเย็นเสียทีเดียว และไม่ต้องเที่ยวไปเรียนเป็นเชฟให้ว้าวุ่นแต่อย่างใดด้วย การที่จะเป็นพ่อครัวได้นั้นเพียงแค่มีเรื่องของ “ปากศิลป์” ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับปากแต่อย่างใด  แต่ต้องอ่านว่า ปา-กะ-สิน ซึ่งเป็นศิลปะแห่งการรู้ใจคนทางปากนั้น ต้องรู้จักเหตุที่ทำให้มนุษย์รู้สึกอร่อยลิ้นกับอาหารอยู่ 4 ประการหลัก คือ

          1.สีสันของอาหาร

          2.รสชาติอาหาร

          3.กลิ่นของอาหาร

          4.สุขภาพของผู้รับประทาน

          ซึ่งจะเห็นว่าที่จริงการที่เราจะชื่นชมอาหารจานนี้ว่าอร่อยถึงใจหรือเจ้านี้ทำอาหารอร่อยระดับแม่ช้อยนั้นหาได้มาจากแค่ชิวหาสัมผัสอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่จำต้องประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่างดังที่กล่าวไป และที่จริงยังมีปัจจัยหยุมหยิมกว่านี้อีกมาก เป็นต้น ว่าอารมณ์ในขณะรับประทานอาหาร ผู้ร่วมรับประทาน ดินฟ้าอาหาร และอื่นๆอีก ซึ่งยากที่จะจาระไนได้ถ้วน แต่สำหรับ 4 ประการนี้ก็พอจะช่วยให้ผสานกับอารมณ์ได้เป็นอย่างดีแล้ว

          กฎในการทานหลากสี

สำหรับการทานอาหารอย่างเราๆท่านๆที่อยู่ร่วมกันในยุค “อาหารกองรอบกาย” เช่นนี้ โดยเฉพาะเมืองไทยที่ไม่ว่าจะมองไปทางใดก็มีแต่ของทานทั้งสิ้น ไม่ว่าจะอาหาร “ทานเล่น” หรือ “ทานจริง” อยู่รอบกายทั้งสิ้น ถ้าเราไม่ซื้อมาทานเอง ก็จะมีผู้ซื้อมาประเคนให้ทาน มีเพื่อนร่วมงานชักชวนกันทาน จิ้มโน่นนิดนี่หน่อยอร่อยเพลินใจ จนบางทีลืมคิดไปว่า ตรวจสุขภาพประจำปีทีไรมักมีไขมันขึ้นมาให้ได้สนุกกันทุกปีราวกับโปรโมชั่นมือถือแพ็กเกจคู่ ซึ่งที่จริงแล้วเราสามารถพลิกวิกฤติแห่งปรากฏการณ์ “สวาปามอย่างท่วมท้น” นี้ให้กลายเป็นโอกาสได้ยากเย็นนัก ซึ่งไม่เกี่ยวกับการทานยาลดความอ้วนหรือการดูดไขมันแต่อย่างใด เพียงแค่ท่านใช้กฎแห่งการทานหลากสีที่จะกล่าวต่อไปนี้เท่านั้นเอง โดยให้เทคนิคไว้เลือกทานง่ายๆ คือ ให้หาผักผลไม้สีเขียวก็ได้ สีเหลืองแดงจัดก็ดี ทานให้มากเข้าอย่างน้อยก็ต้องครึ่งกิโลกรัม และให้เลี่ยงอาหารสีดำนานาชนิด เช่น กาแฟ บุหรี่ ยาเส้น หมากพลูและเหล้าเบียร์ต่างๆ สำหรับในรายละเอียดก็มีดังต่อไปนี้

          เลือกทานผักสีเขียวจัด ยิ่งเขียวมากยิ่งดี เพราะส่วนใหญ่มักมีสารต้านมะเร็ง ยับยั้งการเติบโตของเซลล์เนื้องอกได้ เช่น ผักบรอกโคลี กะหล่ำหรือคะน้า ที่มีสารต้านสนิมแก่ และมีสารสกัดมะเร็งไม่ให้โตเปะปะพเนจรไปเรื่อยๆ ซึ่งสารกลุ่มนี้มักจะมีธาตุกำมะถันเจืออยู่ด้วย ซึ่งจะสังเกตได้ง่ายก็คือ มักมีกลิ่นเหม็นเขียวหรือฉุน ดังนั้นการที่ท่านไปรับประทานสารสกัดหรือเลือกผักชนิดที่กลิ่นน้อยก็อาจทำให้ไม่ได้สารมีประโยชน์เหล่านี้เพียงพอ

          ดื่มชาเขียว นับเป็นสีเขียวอีกอย่างที่ควรบริโภค ด้วยว่ามีสารที่ช่วยป้องกันมะเร็งหลายชนิดอยู่ด้วย แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ตะบี้ตะบันดื่มแต่ชนิดสำเร็จรูปเป็นขวดนะครับ ขอให้ชงเองจะดีมีคุณค่ากว่ามาก ด้วยว่าสาระสำคัญนามว่า “คาเทชิน” จะมีมากในชาเขียวที่ท่านปรุงเองมากกว่า และขอฝากเคล็ดไว้อีกนิดว่า อย่าดื่มตอนร้อนจัดขนาดลวกไข่สุกได้ ด้วยว่าหลอดอาหารของท่านก็อ่อนนุ่มพอกับไข่ ถ้าได้ชาร้อนราดรดลงไปก็อาจทำให้มันสุกเปื่อย หากปล่อยไปเรื่อยๆ ก็กลายเป็นมะเร็งได้

          เลือกทานผักผลไม้สีแดงเหลือง ซึ่งสีแดงเหลืองนี้มีคุณมากในแง่ที่ช่วยต้านสนิมแก่ และที่สำคัญก็คือ ช่วยเรื่องของระบบประสาทด้วย ถ้าอยากให้ประสาททุกส่วนไม่ว่าจะสมองหรือนัยน์ตาดี นอกจากมีของเขียวแล้วก็ขอให้ใส่ใจในเหลืองด้วย ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด พริกเหลือง พริกหยวก มะเขือเทศ หรือ แครอท

          เลี่ยงการดื่มกาแฟหรือชาสำเร็จรูป เนื่องจากมีกาเฟอีนไปบีบหัวใจได้และทำให้ปัสสาวะบ่อย เกิดอาการขาดน้ำ ถ้าร่างกายไม่สบายอยู่แล้วก็จะยิ่งทำให้ร้อนและเกิดการอักเสบได้ง่ายขึ้น

          เลี่ยงของหวานและอาหารแป้ง ซึ่งเป็นมิจฉาชีพที่คอยจะชิงเอาความหนุ่มสาวไปจากเรา โดยไปกดการสร้างฮอร์โมนหนุ่มสาวจากสมอง และที่สำคัญ คือ ฤทธิ์ในการทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นลงอย่างบ้าคลั่งราวกับพายุไซโคลน โดยเมื่อน้ำตาลในเลือดของท่านขึ้นมาฉ่ำบ้างไม่ฉ่ำบ้างนั้น จะทำให้ท่านเกิดอาการสบายใจ ชวนให้ง่วงเหงาหาวนอนพลางหงุดหงิด ความคิดตันบ้าง สิ่งนี้เองคืออิทธิพลของแป้งในการแต่งอารมณ์ทุกข์ให้เรา ซึ่งมีพลังมากทำให้ “หดหู่แบบสั่งได้” ทีเดียว

          ปกิณกะคดีสีอาหารต้านเครียด

          เวลามีอาการปวดศีรษะเฉียบพลันไม่ว่าจะไมเกรนหรือปวดจากความเครียดนั้น วีธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างหนึ่งก็คือ การมองภาพที่ชวนให้สบายตาโดยเฉพาะภาพสีฟ้าหรือสีน้ำเงิน การมองดูท้องฟ้าสีฟ้าใสในทุ่งหญ้าก็ช่วยได้มาก ส่วนการอาหารเป็นยาต้านเครียดให้ชะงัดดีนั้นเรื่องสีก็นำเด่นมาเช่นกัน ดังที่เราจะเห็นว่าถ้าแวะไปซื้อเนื้อสดในตลาดหรือหาสเต็กตามร้านทานสักที่ก็คงเลือกร้านที่ดูเนื้อสดดี ไม่มีสีช้ำเน่า จึงทำให้ร้านขายเนื้อพากันใช่ไฟสีแดงหรือสีแสดเพื่อส่องเนื้อของตนให้ดูน่ารับประทาน แต่ถ้าร้านใดต้องการจะลดยอดขายตัวเองก็ควรจะต้องใช้ไฟออกสีฟ้าหรือเขียวสาดใส่ซึ่งจะทำให้เนื้อแดงอย่างดีกลายเป็นสีช้ำเลือดช้ำหนองกลายเป็น “อาหารปอบ” ในทันที นี่เองคืออิทธิพลของสีสันที่ช่วยกันปรุงแต่งให้อาหารอร่อยขึ้นอย่างที่จะลืมเสียมิได้

          แม้ท่านจะไม่ได้เป็นเชฟมิชลินสามดาว แต่ถ้ารู้คุณสมบัติของสีอาหารเพิ่มขึ้นอีกสักหน่อยก็จะทำให้อาหารอร่อยไม่รู้ลืมเป็นเสน่ห์ปลายจวักได้เหมือนกัน สำหรับคุณสมบัติของอาหารแต่ละโทนสีที่มีผลต่ออารมณ์ได้นั้น เราคงต้องมาดูแต่เป็นผู้รักสุขภาพอย่างยิ่งยวดทั้งนั้น ผมจึงขอนำเสนออาหารสีสันในรูปแบบหนึ่งซึ่งจะเจาะลึกเป็นกลุ่มใหญ่ที่ใช้ประโยชน์ได้ทันทีดังนี้

          อาหารโทนสีส้มแดงเหลือง

          ที่ยกสีนี้ขึ้นเป็นอันดับแรกก็เพราะช่วยเรื่องของอารมณ์และผิวพรรณโดยตรงเลย ด้วยว่าอาหารกลุ่มสีชวนแสบตานี้ ส่วนใหญ่มักประกอบด้วยวิตามินเอและวิตามินอี ถ้าไม่อยากจำให้มากเรื่องก็ลองนึกถึงภาพ “ดอกตะวัน” (The Sunflower) ของยอดศิลปินฟานน็อก ( ที่เราเรียกกันว่าแวนโกะห์) ดูก็ได้ ด้วยท่านฟานน็อกนี้นิยมสีส้มสีแดงเป็นอันมาก จึงชอบวาดรูปกองฟางแห้งสีเหลืองหรือไม่ก็ดอกทานตะวันในอิริยาบถต่างๆ แทนวาดมนุษย์ซึ่งภาพในกลุ่มนี้ของท่านก็มีอยู่เยอะ หาได้มีแต่ดอกทานตะวันเหี่ยวๆ ที่เราเคยเห็นราคาเป็นล้านเท่านั้น และที่สำคัญยังช่วยในเรื่องความจำ เพราะเมล็ดดอกทานตะวันนี้เป็นแหล่งวิตามินอีชั้นดีทีเดียว

          สำหรับวัตถุดิบของบ้านเราที่จะนำมาจัดเป็นอาหารโทนสีเหลืองแดงนี้ก็มีอยู่มาก โดยเฉพาะขมิ้นที่ยิ่งช่วยต้านแก่ ป้องกันไม่ให้สมองเสื่อม โดยเอาเหง้าของขมิ้นชันหรือขมิ้นอ้อยมาปอกเปลือกโขลกให้ละเอียด เติมน้ำแล้วกรองเอาแต่น้ำก็ได้น้ำสีเหลืองสวยมาผสมอาหาร ไม่ว่าจะเป็นข้าวหมกไก่ แกงเหลือง หรือข้าวราดแกงกะหรี่แบบญี่ปุ่น ยิ่งทานยิ่งทำให้ผิวดีขึ้น หรือจะเป็นผงขมิ้นที่ใส่แกงส้มกินให้สีสวยกลายเป็น “แกงเหลือง” รสจัดจ้านต้านอัลไซเมอร์ นอกจากนั้นยังมีอาหารเหลืองที่ดีอีก เช่น ดอกคำฝอย ซึ่งช่วยคุมไขมัน ป้องกันหัวใจ บำรุงประสาท และขับประจำเดือนได้ด้วย ดอกคำฝอยจะทำให้สีเหลืองอ่อนกว่า เพียงแค่นำดอกไปต้มในน้ำเดือดราว 5 นาที แล้วช้อนเอากากทิ้งเหลือ ตาน้ำ ซึ่งสามารถเอาไปผสมกับขนมหวานประเภททองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ได้เลย

          ส่วนวัตถุดิบอีกอย่างหนึ่งซึ่งฟังดูแล้วเป็นไทยมาก แถมยังอยู่ใกล้ตัวแต่ไม่ค่อยมีใครคิดจะนำมาทำอาหารนั่นคือ ต้นพุด ซึ่งประเทศในแถบเอเชียเรานิยมมาก โดยในญี่ปุ่นนั้นนิยมใช้แก่นไม้พุดมาทำเป็นหวีด้วยเชื่อว่าจะทำให้มีโชคลาภ ส่วนของไทยเราท่านให้เอาแก่นไม้พุดมาสับแล้วต้มในน้ำร้อนเดือด จากนั้นใช้ผ้าขาวบางกรองกากออกเหมือนเดิม แล้วค่อยนำมาเติมแต่งในขนม เช่น ถั่วแปบ ซึ่งทำให้เหลืองนวลดูน่ารับประทานมากขึ้น

          นอกจากนั้นยังมีสีของผักไทยๆ ที่มีสีสันสดใสในโทนนี้อีก สีนั่นก็คือ สีแดง คุณแม่ของผมและตัวผมเองนั้น เพลิดเพลินกับการรับประทานสะเดาน้ำปลาหวานมานานนักหนา ถึงขนาดว่าถ้าไม่มีปลาดุกย่างมันตกมาแกล้มด้วยก็สามารถทำไข่ดาวทานกับสะเดาน้ำปลาหวานได้อย่างไม่ต้องลงแดงกันนัก โดยสะเดาที่ว่าขมหนักหนาแต่ว่ามันดีนั้น ถ้าเลือกดีๆ จะไม่ขมจัดและดีอย่าบอกใคร ส่วนความลับที่คนมักไม่ค่อยทราบเรื่องสะเดาก็คือ เปลือกของต้นสะเดา นี้มีคุณค่าทางด้านการต้านชราและช่วยปรุงแต่งอารมณ์ได้ดีทีเดียว เพียงแค่เอาเปลือกของต้นสะเดามาสับแล้วต้มในน้ำเดือดชั่วขณะ ก็จะได้สีแดงสวยออกมาใช้อาหารของต้นสะเดามาสับแล้วต้มในน้ำเดือดชั่วขณะ ก็จะได้สีแดงสวยออกมาใช้ผสมอาหารหรือขนมให้มีสีแดงยั่วใจได้ไม่ยากเย็น แถมสีแดงนั้นยังอุดมไปด้วย สารต้านแก่ คือวิตามินเอและอี ช่วยให้สมองโปร่งโล่งดีเสียด้วย

          สำหรับเรื่องอาหารสีแดงแรงไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระนี้ยังมีอยู่อีกมาก แต่ที่จำได้ดีเรื่องหนึ่งก็คือ “ซอสมะเขือเทศ” เจ้าซอสสีแดงรสเปรี้ยวๆหวานๆ ที่รับประทานกับไก่ทอดหรือผัดกับข้าวให้สีแดงสวยเด็กชอบ ไปจนถึงใช้ใส่เย็นตาโฟได้เวลาสิ้นคิดหาเต้าหู้ยี้ไม่ทัน ที่จริงแล้วคำว่า “เค็ทชัป” นี้มีรากศัพท์มาจากคนจีนโพ้นทะเล และก็ไม่ใช่แต่เพียงศัพท์เท่านั้น หากแต่รวมถึงสูตรการปรุง ก็ถูกดัดแปลงมาจากของคนจีนนี่เอง โดยเดิมทีนั้น คนจีนเขาก็มีน้ำซอสที่ได้จากการหมักปลาเช่นกันใช้ปรุงอาหาร เติมน้ำซุปให้อร่อยออกรสดีขึ้น ซึ่งสูตรนี้ก็ถูกเรียกตามภาษาจีนว่า Ke Tsiap ซึ่งคนจีนไม่ว่าไปอยู่ไหนก็ใช้กันเรื่อยมาจนถึงจีนที่อยู่สุดของอุษาคเนย์ คือ สิงคโปร์ เมื่อสัก 200-300 ปีก่อนนี้ก่อนที่ท่านเซอร์ราฟเฟิลจะไปพบเกาะสิงคโปร์ เข้า กะลาสีเรือชาวอังกฤษก็ได้ไป “ขโมย” สูตรการทำซอสรสเด็ดนี้มา “ขมาย” คือขโมยปนกันแปลงกายให้เป็นแบบที่ถูกลิ้นทานอร่อยไม่เหม็นคาวนัก โดยเริ่มใส่เครื่องเทศเข้าไปและใช้มะเขือเทศเติมเข้ามา จนในที่สุดก็ไม่เห็นเค้าเดิมอีกต่อไป เรียกกว่าถ้าเจ้าของสูตรชาวจีนมาเห็นเข้าคงร้องไอ้หยา แล้วก็ว่านี่ไม่มีทางมาจากเมืองจีนแน่ แต่อย่างไรความจริงก็เป็นสิ่งไม่ตาย ของอย่างนี้มีเมืองจีนที่เดียวที่ทำได้ใช้กันไปจนถึงอิตาลีมีหน้าพิซซ่าราดซอสมะเขือเทศทีเดียว

          วิตามินอีและเอที่มีอยู่ในอาหารกลุ่มนี้ก็ล้วนแต่ละลายในไขมันได้ สมองของเราและระบบประสาทโยงใยทั้งหลายก็เป็นไขมันเช่นกัน จึงต้องการวิตามินเหล่านี้ละลายเข้าไปช่วยอย่างมาก ซึ่งอาหารกลุ่มนี้ก็จะมีมะเขือเทศ ฟักทอง แครอท พริกหยวก  เสาวรส ข้าวโพด และอีกมาก ถ้าจะสรุปให้ชัดขึ้นถึงคุณประโยชน์ที่ท่านจะได้จากการทานผัดฟักทองกับไข่ หรือทานแกงจืดข้าวโพดอ่อนก็คือ

          ช่วยบำรุงสมองและปรับสมดุลอารมณ์ให้ดีขึ้น จากฤทธิ์ของวิตามินเอและอีที่เข้าไปบำรุงประสาทที่รวมถึงจอประสาทตาที่เสื่อมลงยามเราอายุมากขึ้นด้วย

          ช่วยบำรุงผิว ต้านสนิมแก่ไม่ให้มาจับทำลายอณูผิวตั้งแต่ในระดับดีเอ็นเอ ด้วยวิตามินเอกับอีคุณสมบัติเป็นผู้ให้ที่ดี คือจะยอมพลีกายให้สนิมแก่มาจับแทนอณูเซลล์ผิวเราซึ่งต้องโดนกระทบกระทั่งอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

          ช่วยเจริญอาหาร เพราะโดยมากผักผลไม้สีเหล่านี้มีธาตุเจริญอาหารจำพวกวิตามินบี เอ และอี ซึ่งชวนให้ผิวดีไม่มีสนิมแก่มากและที่สำคัญสารกลุ่มต้านสนิมแก่นี้มีความขมที่ทำให้อยากอาหารได้มากขึ้นด้วย

          อาหารโทนสีเขียว

          ผลของอาหารโทนสีเขียวนี้ฤทธิ์ช่วยเสริมเติมสุขภาพมากกว่าที่เราคิดมากนัก หาใช่แค่เรื่องของแอนติออกซิแดนต์ต้านสนิมแก่อย่างเดียว หากแต่มีเรื่องของสารต้านเซลล์มะเร็งและเส้นใยขัดถูลำไส้ด้วย ซึ่งยากที่จะหาจากอาหารเสริมทั่วไปที่ไร้กาก นอกจากนั้นยังมีสารยอดฮิตคือ “คลอโรฟิลล์” (Chlorophyll) ซึ่งเป็นเสมือนเลือดของพืชมีสีเขียว ช่วยในการสร้างอาหารให้พืชอยู่ได้มนุษย์หัวใจหัวไสจึงใช้ข้อดีนี้สกัดเอาคลอโรฟิลล์มาใช้บำบัดด้วย จึงขอสรุปรวบยอดผลดีของอาหารสีเขียวไว้ดังต่อไปนี้

          ช่วยต้านเซลล์มะเร็งที่กำลังแบ่งตัวอยู่ทุกขณะ และชะลอความชราต้านสนิมแก่ที่ได้รับเข้ามาสมากขึ้นด้วยธาตุสีเขียวอันลือนามคือ “คลอโรฟิลล์” ซึ่งทำหน้าที่เสมือนเลือดของพืชในการปรุงอาหารเติมความสมบูรณ์ภายในให้ ถ้าเรารับประทานเข้าไปก็จะช่วยได้เช่นกัน

          ช่วยเจริญอาหารเนื่องจากมีกลุ่มของวิตามินบีที่ช่วยกระตุ้นความอยากอาหารได้มากอย่างที่รู้กัน

          ช่วยลดความเสี่ยงต่อการหมักหมมของเศษอาหารในลำไส้เนื่องจากมีเส้นใยที่ต้านการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง

          ช่วยดูดซับไขมัน น้ำตาล และระดับอินซูลินในเลือด

          ช่วยลดความดันโลหิต หากรับประทานผักใบเขียวและลดอาหารเค็มร่วมกัน

          ที่จริงสูตรอาหารต้านเครียดโดยใช้สีเขียวนี้ยังมีอีกมาก เพราะไม่ว่าผักหญ้าใดของไทยเราก็ล้วนแต่มีสีเขียวสดเขียวแก่เป็นส่วนใหญ่ เรื่องสีเขียวนี้ถ้าพูดไปก็เห็นจะมีบุคคลอยู่กลุ่มซึ่งใช้ประโยชน์จากทั้งสีเขียวและกลิ่นด้วยมาช่วยทำเป็น “สุคนธบำบัด” ซึ่งผมเห็นว่าเป็นภูมิปัญญาที่ไม่เลวทีเดียว ถ้าไม่ขี้เกียจจนเกินไปบางทีผมยังหัดเอามาทำบ้างเลย นั่นคือท่านผู้ขับรถแท็กซี่ทั้งหลายที่อุตส่าห์ไปหาใบเตยหอมฟุ้งจรุงจิตชวนให้คิดถึงสมัยวัยเด็กเวลาไปดูผู้ใหญ่ท่านทำขนมงานตรุษหรืองานสารท เรียกว่าพอขึ้นแท็กซี่ที่มีกลิ่นใบเตยแล้ว ชวนให้ท้องร้อง กลับไปบ้านวันนั้นเจริญอาหารมากทีเดียว บางทีถึงต้องไปหาใบเตยมาทำข้าวต้มใบเตยร้อนๆ ทานให้ชื่นใจก่อนนอนเสียก่อนด้วย โดยใบเตยนี้ท่านสามารถนำมาทำเป็นอาหารร่าเริงได้ไม่ต้องใช้ดมกลิ่นอย่างเดียว โดยไปหาใบเตยมาสัก 1-2 กอเอามาตำให้ละเอียด เติมน้ำลงไปนิดหน่อยพอท่วม จากนั้นกรองด้วยผ้าขาวบาง ก็จะได้น้ำใบเตยสีเขียวสวยมีกลิ่นหอม จะใช้ผสมกับน้ำตาลทรายแดงดื่มหรือนำมาไปผสมอาหารให้มีสีเขียวจางและมีกลิ่นเตยเข้มข้นชื่นใจกว่าที่ไปซื้อเขาเสียอีก แถมยังแน่ใจด้วยว่าได้คุณค่าทั้งคลอโรฟิลล์กับวิตามินเอครบแบบไม่หดหายไปไหน ไม่เผลอไผลได้ของแถมเป็นยาฆ่าแมลงเสียด้วย

          อาหารโทนสีน้ำเงินม่วง

          เมื่อพูดถึงอาหารสีน้ำเงินม่วงเชื่อว่าหลายท่านคงนึกถึงขนมกลีบดอกอัญชันบ้าง หรือบางท่านนึกไกลไปถึงแชมพูดอกอัญชัน แต่ที่จริงแล้วมีอาหารใกล้ตัวเราหลายอย่างที่มีสารสีม่วงนี้อยู่ไม่ว่าจะเป็นมะเขือยาวซึ่งมีมากที่สุด หอมแดง หรือส้มสีสวย โดยอาหารโทนสีน้ำเงินม่วงนี้จะมีสารตัวหนึ่งชื่อว่า แอนโธไซยานินส์ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีศักยภาพสูงมาก ปัจจุบันจึงมีการสัดนำมาทำเป็นอาหารเสริมไม่ว่าจะสารเมล็ดองุ่น (Grape Seed Extract) เปลือกสน (Pine Bark) ไวน์แดง หรือแม้แต่มังคุด (แต่ต้องทานเปลือก) นอกจากนั้นยังมีอาหารแปลกอีกอย่างนั่นคือแครอท แต่เป็นบรรพบุรุษแครอทรุ่นแรกเมื่อหลายร้อยปีก่อนจึงจะมีสีม่วงแปร๊ดสะใจ เต็มไปด้วยแอนโธไซนินส์ถึงใจพระเดชพระคุณเป็นยิ่งนัก

          แต่ทั้งนี้เราก็ไม่จำเป็นต้องคร่ำครวญถึงญาติวงพงศาของแครอทก็ได้ ด้วยว่าการรับประทานมะเขือยาว องุ่นสด หรือกะหล่ำปลีม่วงก็สามารถให้สารแอนโธไซยานินส์นี้ได้มากพออยู่ หรือวัตถุดิบไทยๆ อย่างดอกอัญชันซึ่งเมื่อครั้งยังเรียนอยู่นั้นเคยนำมาคั้นน้ำจุ่มระดาษกรองทำเป็นกระดาษตรวจความเป็นกรดด่างเอง ส่วนสมัยก่อน ถ้าใครเกิดทัน ผู้ใหญ่บางท่านนิยมเอาดอกอัญชันมาเขียนคิ้วให้ทารกด้วยเชื่อจะทำให้เด็กคิ้วดกดำสวยงามดี ซึ่งก็เป็นความจริงที่ว่าอัญชันช่วยบำรุงรักษาดวงตา แก้อาการตาฟางมืดมัว แถมยังช่วยขับปัสสาวะได้ด้วยถ้าอยากได้สารม่วงจากอัญชันนี้มากๆก็เอามาผสมอาหาร อย่างขนมชั้น ซ่าหริ่มหรือถั่วแปบ แค่ไปเด็ดกลีบดอกอัญชันที่เลื้อยอยู่ข้างบ้านเอายีให้ช้ำหน่อยแล้วเติมน้ำเล็กน้อย กรองด้วยผ้าขาวบางเอาเฉพาะน้ำมาผสมขนมหรืออาหาร ก็จะได้สีน้ำเงินที่ดูน่ารับประทานพร้อมกันกับสารแอนโธไซยานินส์ที่ต้านชราแบบครอบจักรวาลอีกด้วย

          แต่ในบางคราเราอาจไม่แน่ใจที่เรารับประทานนั้นเพียงพอหรือไม่ ดังนั้น ถ้าอยากให้พอจริงก็อาจต้องบริโภคให้มากขึ้นหรือจะใช้อาหารเสริมสกัดเข้ามาช่วยด้วยก็ด้วยก็ไม่ผิดแปลกแต่อย่างใด ซึ่งจะขอเล่าถึงประโยชน์ของอาหารสีน้ำเงินม่วงให้ฟังกันดังนี้

          ต้านพลังทำลายจากรังสียูวีในแสงแดด

          มีศักยภาพในการต้านสนิมอนุมูลอิสระได้มากกว่าวิตามินเอและอี

          มีส่วนเกี่ยวข้องกับการป้องกันต้อกระจก เส้นเลือดขอด โรคหัวใจ

          โรคกระเพาะอาหาร และโรคมะเร็ง

          นึกขึ้นได้ถึงเรื่องสำคัญไม่แพ้กันกับประโยชน์ของแอนโธไซยานินส์ก็คือ “แสงแดด” และ “ออกซิเจน” ที่มากจนเกินไป สำหรับแหล่งอื่นที่ท่านอาจหาอาหารที่อุดมไปด้วยแอนโธไซยานินส์ก็มี แอปเปิลฟูจิ ที่ผลสีแดงเรื่อสดสวยราวแก้มสาวรุ่นน้ำส้มสีเลือด (Blood Orange) แยมบลูเบอรี่ หรือแม้แต่มะเขือเทศพันธุ์ใหม่สีม่วงสวยที่มีการเริ่มเพาะที่ประเทศอังกฤษขึ้นมาก็ใช้เป็นอาหารต้านอารมณ์บูดได้

          อาหารโทนสีขาว

          อาจเริ่มสงสัยว่าสีขาวจะมีอะไรบ้างนะ ที่จริงแล้วผักโทนสีขาวนี้มีเยอะมากทีเดียว แถมเป็นผักที่ดีมากเสียด้วย เพราะมีสารต้านสนิมแก่ สารลดไขมันในเลือด และช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี ซึ่งผักสีขาวเหล่านี้ได้แก่ หัวหอม กระเทียม ผักกาดขาว ต้นหอม ผักชีฝรั่ง ลูกสาลี่ ไวน์ขาวและอีกมาก ซึ่งสมบัติของอาหารในกลุ่มนี้จะมีสารต้านการเกิดเนื้องอกดังต่อไปนี้

          1.อัลลิซิน (Allicin)

          2.เคอร์ซิติน (Quercetin)

          3.แคมเฟอร์รอล (Kaempferoll)

          โดยสารในกลุ่มนี้จะมีของดีที่ประกอบอยู่ก็คือ “กำมะถัน” (Sulfur) ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้ผักสีขาวเหล่านี้มีกลิ่นแรงไม่ว่าจะเป็นกระเทียมหรือผักชีก็ตาม ดังนั้น ถ้ากลิ่นคือของดีสำหรับผักในกลุ่มนี้ ก็ต้องคอยดูให้ดีว่ายังมีสารล้ำค่าเหล่านี้อยู่ครบหรือไม่ ถ้าคิดจะเลือกไปรับประทานอาหารเสริมชนิดที่ปราศจากกลิ่นก็น่าเสียดายกลายเป็นได้ของที่สวยแต่รูปจูบไม่หอมไปเสีย

          สีอาหารช่วยอารมณ์ แต่จะรื่นรมย์กับชีวิตได้ต้องใช้สติ

          เหล่านี้เองคือคุณประโยชน์ของอาหารสีสัน นอกจากจะช่วยเจริญอาหารในด้านจักขุสัมผัสแล้ว ถ้าท่านเลือกรับประทานโดยเน้นสีให้สดเข้าว่าและมีความหมายสดใหม่ไม่ทิ้งค้างไว้ก็พอที่จะช่วยบำรุงทั้งสมองและอารมณ์ไม่ให้บูดไว้ สำหรับอาหารหลากสีนั้นอาจช่วยชูอารมณ์เราได้ไม่ให้เศร้าหมอง แต่สำหรับอาหารบำรุงดวงจิตต้องคิดเช่นนี้ว่า ชีวิตของบุคคลนั้นก็ย่อมต้องมีสีสันผลัดเปลี่ยนกันไปในแต่ละช่วงวัย ไม่มีใครจะห้ามได้หรือทำเสมือนพรหมบันดาลได้ดั่งประสงค์ ชีวิตหนึ่งก็มีเดี๋ยวมืด เดี๋ยวสว่าง สลับกันไป บางคราเป็นสีชมพูหวาน แต่บางเวลาก็เป็นสีดำทึบชวนระทม แต่อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะสีใดก็ไม่เคยที่จะฉาบติดคงทนอยู่บนชีวิตเราได้ตลอดไปเลย ขอเพียงให้มีสติอยู่ในทุกลมหายใจให้ดีแล้วเราจะได้เห็นสีสวยๆ ที่ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาในชีวิตอีกมากทีเดียว